แหล่งท่องเที่ยว
ทะเลสองห้อง
2834
4 เมษายน 2566

ทะเลสองห้อง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางดี ห่างจากตัวอำเภอห้วยยอดประมาณ 27 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม สายห้วยยอด-กระบี่ ถึงสามแยกท่ามะพร้าว แยกขวาไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติกว้างใหญ่คล้ายทะเลสาบโอบล้อมด้วยภูเขาหลายลูกดูสลับซับซ้อน และอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้นานาชนิด เป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือระดับชาติ (ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ) ตอนกลางของแอ่งน้ำมีเขายื่นออกมาเกือบติดต่อกัน แบ่งแอ่งน้ำออกเป็น 2 ตอน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ทะเลสองห้อง”


           "ทะเลสองห้อง" เป็นชื่อหนองน้ำจืด หรือทะเลสาบน้ำจืด เนื่องจากมี 2 ตอน หรือ 2 แอ่งมาเชื่อมกันเป็นคอคอด จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ สภาพทั่วไปเป็นทะเลสาบ ที่มีความแปลก มหัศจรรย์ พึงทราบได้จาก จดหมายที่สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัติวงศ์ ทรงบันทึกไว้เมื่อพ.ศ.2446 ว่าเป็นทะเลสาบบนภูเขา ซึ่งปกติแล้วทะเลสาบ จะอยู่ในที่ราบหรือที่ลุ่ม แต่กลับไปตั้งอยู่ในที่สูง ที่ถูกล้อมรอบไปด้วยเนิน ควน เขา คล้ายๆ ปกคลุมด้วยภูเขาไฟระเบิด
           "ทะเลสองห้อง" ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังอยู่ทางด้าน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของที่ว่าการอำเภอห้วยยอด โดยอยู่ห่างออกไปประมาณ 21 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังมีพั้นที่อยู่ติดกับเขตแดนจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,500 ไร่ภายในพื้นที่แอ่งน้ำตอนหนึ่งน้ำจะแห้งในช่วงฤดูแล้งซึ่งจะถูกล้อมไปด้วยต้นเสม็ดและต้นจูด (จูดที่ใช้สานเสื่อ) รวมพื้นที่ประมาณ 500 ไร่
เป็นสถานที่รวมของสัตว์ป่าในฤดูแล้งมายาวนานตั้งแต่ในสมัยก่อน โดยน้ำในทะเลสาบแห่งนี้ น่าจะมีความเป็นด่างหรือกรดผิดปกติกว่าน้ำจืดทั่วๆ ไป ทั้งนี้ เมื่อทดลองนำน้ำในแอ่งดังกล่าวไปล้างไขมันจะออกได้ดีกว่าน้ำในสถานที่อื่นๆ และถ้าจะทำการขุดน้ำรอบๆ ทะเลที่เป็นพื้นที่หญ้า ก็จะไม่มีตาน้ำออกมานอกจากจะเป็นในระยะที่ลึกพอสมควร นอกจากนั้น ในบริเวณน้ำอันกว้างขวางที่ถูกล้อมปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ที่รายรอบอยู่บนเขาควนแห่งนี้
เมื่อเกิดลมพายุพัดซึ่งตามปกติแล้วน่าจะมีใบไม้ปลิวว่อนล่องลอยอยู่บ้าง แต่กลับไม่มีให้เห็นเลย ในทะเลสาบก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาน้ำจืดนานาชนิด รวมถึงนกเป็ดน้ำ ดังนั้น ทางราชการจึงต้องควบคุมมิให้มีการล่าสัตว์ที่ "ทะเลสองห้อง"
          ทั้งนี้ ด้วยทัศนียภาพที่สวยงามน่าประทับใจ จึงมีเพลงพื้นบ้านที่ขับร้องกันในแดนไกลครั้งโบราณกาลที่ได้มีการแต่งเนื้อหาเอ่ยถึงทะเลสาบแห่งนี้ไว้ว่า "ถ้าหากพี่ไปถึงทะเลสองห้องให้กลับมาหาน้องเล่าหนา" คำว่า "เล่าหนา" นั้น เป็นภาษาถิ่นใต้แปลว่า "อีกนะ"
จะมีใครที่ทดลองหรือรู้เห็นอย่างไรมิอาจจะทราบได้แต่ชาวบ้านที่เชื่อก็ได้เล่าต่อๆ กันมาว่าที่ทะเลสาบนั้นจะมีสายน้ำที่ทะเลมายังแม่น้ำตรังได้ที่ภูเขาบางลา ซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร โดยได้มีผู้ทดลอง นำแกลบข้าวไปโปรยในแอ่งน้ำต่อมาปรากฏว่าแกลบข้าวได้โผล่ออกที่บางลา ซึ่งเป็นชื่อท่าน้ำแห่งหนึ่งของแม่น้ำตรัง
           ทะเลสองห้องแห่งนี้เคยมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์เสด็จมาประพาสครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ตามบันทึกในจดหมายเหตุ "จดหมายระยะทางไปตรวจราชการ แหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์" มีความตอนหนึ่งบันทึกถึงทะเลสองห้องไว้ ดังนี้
".....ศุกร ๓๐ พฤษ ๑๒๑ ...........เช้า ๑.๕๕ ขึ้นช้างจากที่พักย้อนไปทางเก่า ๒.๒๓ ถึงทางแยกซ้ายมือจึงเลี้ยวลงทางแยกนั้นไปข้างทิศเหนือ ที่ถัดปากทางเข้าไปหน่อยมีไร่แลเรือน ที่เป็นป่าแดง ทางตอนนี้เล็กเป็นทางธรรมดา ไม่ได้ทำเปนถนน แต่ตัดต้นไม้ชายทางเล็กน้อย มีทางกว้างเพียง ๖ ถึง ๘ ศอก ๒.๕๕ เข้าสวนมะพร้าวริมตลิ่งแม่น้ำตรัง ลงข้ามน้ำ น้ำลึกเพียงข้อบนช้าง ขึ้นฝั่งโน้นมีไร่ริมน้ำ ๓.๒๕ มีไร่แลเรือนเห็นริมทาง ๓.๒๗ ข้ามห้วยบางด้วน ๓.๓๕ ออกทุ่งนา ๓.๔๐ เข้าป่าแดง พบโก่นที่ไร่แห่งหนึ่ง ๔.๐๕ ข้ามนาร้าง ๔.๑๕ ข้ามควน พบเรือนคน ๔.๔๕ ขึ้นควนใหญ่ซึ่งต่อกับเขา ชื่อควนเขากัง แท้จริงก็คือเขานั้นเอง บนควนนี้มีไม้ใหญ่ถูกตัดแลไหม้ไฟรเนรนาดเพราะถูกคนทำไร่มาก น่าเสียดายนัก ๕.๐๐ พ้นที่ฉิบหายขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ทางลอดไปในดงต้นไม้ใหญ่มืดชิดมิดแสงตวัน ทางขึ้นชันสูงมาก ๕.๒๐ ลงทางลงข้างนี้ลาดลงง่ายไม่ชัน มีต้นยางรอยคนเจาะทำน้ำมันหลายต้น ๕.๔๐ ลงสุดเชิงควนถึงหาดทรายฝั่งทเลสองห้อง พระสถลกับหลวงนครมาคอยรับ เขาตัดกิ่งไม่มาปักทำร่ม รสชาติเป็นอย่างนั่งใต้ต้นไม้ได้ไอน้ำเย็นสบายดี ทเลสองห้องเป็นทะเลสาบบนภูเขา เขาตั้งเป็นกำแพงล้อมไว้รอบ น้ำไม่มีที่ไปก็ขังอยู่ในคอกเขา มีชื่อสองห้องคือกว้างใหญ่อยู่สองวัง กลางเป็นช่องคอด ห้องหนึ่งใหญ่ประมาณ ๒๐ เส้น งามพอใช้ กินเข้าแล้วบ่าย ๑.๓๕ กลับทางเดิม มาถึงทางชักพระเวลา ๕.๐๕ ย้อนไปทางวัดหาร...."
           
           ครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในสมัยที่ดำรงพระยศ เป็นพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประพาสทะเลสองห้องตามหลักฐานในบันทึกจดหมายเหตุประพาสภาคใต้ รศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) โดยนายแก้ว(นามแฝง) มีความว่า.....
           ".....วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๑๒๘ เมื่อคืนดึกราว ๗ ทุ่มเศษ ฝนตกมาก คาดว่าเช้าวันนี้ถนนหนทางจะเฉอะแฉะใหญ่ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อเสด็จนั้นถนนยังเปียก แต่ไม่เป็นที่เสียหายอะไร วันนี้กว่าจะได้เสด็จออกจากพลับพลาถึง ๕ โมงเช้า เพราะรถที่นั่งยางล้อแตก ต้องจัดการแก้ไขอยู่นาน ส่วนทางที่เสด็จนั้นก็ไปทางเดียวกับที่ไปถ้ำปินะ แต่เมื่อพ้นจากพลับพลานี้ไปแล้วได้ประมาณ ๒๐๐ เส้น ได้แยกไปอีกทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ถึงท่ามะพร้าว เสด็จข้ามคลองลำราทางตะพานชั่วคราว ไปทรงม้าต่อไป มีผู้ตามเสด็จไปได้น้อยเพราะจำนวนม้าจำกัด ที่ขึ้นรถไปก็มี ที่ขี่รถถีบไปก็มี พวกที่ขี่รถถีบนั้น ได้ขี่ไปตั้งแต่ที่เขาขาวนี้ ไปคอยรับเสด็จอยู่ที่ท่ามะพร้าวก่อน
            จากท่ามะพร้าวถนนไปในป่าโดยมาก และทางขึ้นเขาทีละน้อย ๆ เรื่อยไป ป่าทางนี้เป็นป่าสูงจริง ไม่ใคร่จะพบบ้านคนเลย ที่พบก็เห็นอยู่เดี่ยว ๆ ไม่ใช่เป็นหมู่ ทางไปจากท่ามะพร้าวอีก ๒๐๐ เส้นเศษ จึงถึงทะเลสองห้อง ที่นี้เป็นทะเลสาบอยู่ในที่เขาล้อมรอบ มีเป็นสองห้องจริง ๆ แต่ใหญ่ห้องหนึ่ง เล็กห้องหนึ่ง น้ำที่นี่เป็นน้ำตาย ไม่มีทางไหลไป นายเกื้อว่าคล้ายทุ่งเขางูที่ราชบุรี ในฤดูน้ำ แต่อันที่จริงที่นี่เล็กกว่าทุ่งเขางู แต่น้ำขังอยู่เสมอ และที่ก็งามกว่าด้วย ทางทิศเหนือแลดูที่เขาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แลเห็นยอดเขาแดงในเขตเมืองนครศรีธรรมราช น้ำในทะเลนี้ใสนัก เพราะฉะนั้นเวลาสงัดลมน้ำนิ่ง แลเห็นเงาเขาและต้นไม้ แจ่มดีราวกับดูในกระจกเงา ทูลกระหม่อมเสด็จลงเรือ ไปทอดพระเนตรทางห้องเหนือ โปรดมาก จพทรงฉายพระรูปให้เงาเขาติดด้วย เผอิญกล้องไปไม่ทัน กว่าจะไปถึงลมมาทำให้น้ำเป็นริ้วไปเสียหมด ออกจะทรงพื้นแทบไม่ทรงฉายพระรูปเสียเลย แต่ครั้นเสวยกลางวันแล้วลมสงัดดี จึงเสด็จลงเรือไปฉายรูปไว้ได้หลายแผ่น
          เสด็จไปถึงท่ามะพร้าวเวลาเย็นแล้ว เขาได้ทำที่สรงไว้ในคลองลำราเป็นที่น่าสบาย จึงเสด็จลงสรง กว่าจะสรงและทรงเครื่องเสร็จก็พอค่ำ เพราะฉะนั้นได้มีโอกาสขับรถในป่าเวลากลางคืนเป็นครั้งแรก ดูรู้สึกความเปลี่ยวของป่ามากขึ้นอีกเป็นอันมาก...."

           ก่อนที่จะมีผู้คนเข้าไปยึดครอบที่ดินในบริเวณทะเลสาบเพื่อปลูกยางพารานั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีหมู่บ้านหรือชุมชนที่หนาแน่น เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นปรากฏได้ตามหลักฐานต่างๆ ที่มีพบและปรากฏอยู่เช่น "กองอิฐ" ซึ่งเป็นประเภทอิฐดินเผาอย่างที่ใช้ทำการก่อสร้างทั่วไป ซึ่งกระจายกันอยู่ใน "คลองอิฐโตระ"จนเป็นที่มาของชื่อคลองสายนี้มาแต่โบราณกาล ต่อมาคำเรียกนี้ได้เพี้ยนเป็น "คลองอิโตระ" ปัจจุบันก็ยังคงปรากฏอยู่ในบริเวณสวนยางพาราเขาไม้แก้ว
           สำหรับการที่จะไปทัศนศึกษาหรือเพื่ออื่นใดที่ "ทะเลสองห้อง" นั้น เดินทางได้ด้วยทางถนนที่แยกเฉพาะไปจากถนนเพชรเกษม ตอนห้วยยอด-กระบี่ บริเวณกิโลเมตรที่ 8 บ้านถนนแพรก ตำบลบางดี หรือจะแยกจากถนนเพชรเกษม บริเวณที่วัดไตรสามัคคี ในท้องที่ตำบลวังคีรี ทั้งสองจุดจะแยกเข้าไปในระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร นอกจากนั้น ขณะนี้จังหวัดตรังก็ได้ทำถนนลาดยางเข้าไปสมบูรณ์แล้ว และยังได้ทำถนนรอบทะเลสาบด้วย
้ส่วนการตั้งค่ายลูกเสือแห่งชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทยขึ้น ก็เสร็จสมบูรณ์ ได้รับพระราชทานอย่างเป็นทางการว่า "ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ" ได้เปิดให้บริการมาหลายปี ทั้งยังมีการจัดชุมนุมลูกเสือในระดับนานาชาติหลายครั้งด้วยกัน ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 10 ในพื้นที่ประมาณ 1,583 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประกอบด้วย ป่าคลองกะลาเส และป่าคลองไม้ตาย
           สุทธิ มโนธรรมพิทักษ์ ป่าไม้จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ ได้มีการดำเนินการประสานไปยังค่ายลูกเสือแห่งชาติเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ โดยจะมีการปลูกต้นไม้จำนวนมากมายหลายชนิด เช่น ไม้ยางนา ไม้ยางมันใส ไม้พะยอม และไม้ตะเคียนทอง ประมาณ 1 หมื่นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้กับ "ทะเลสองห้อง"
เฉลิมชัย ปรีชานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหามหาราชินีที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้ร่วมกับกรมพลศึกษาปลูกต้นไม้ขึ้นในบริเวณทะเลสาบ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีและสนองพระราชเสาวณีย์แด่พระองค์ท่าน รวมทั้งยังเป็น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับทะเลสาบแห่งนี้มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ในการจัดตั้งค่ายลูกเสือแห่งชาติใน "ทะเลสองห้อง"
          นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ในการดำเนินการจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาบุคลากรและประชาชน ให้มีคุณภาพตามอุดมการณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติแล้ว ยังจะเป็นการช่วยให้สถานที่แห่งนี้มีความร่มรื่น สวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่อำนวยประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
รวมทั้งยังเป็นศูนย์ศึกษาในการอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้ของชาติไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยมิให้ประชาชนบุกรุกเข้าไปทำลายเพิ่มขึ้นอีก

หนังสืออ้างอิง
ริศรานุวัดติวงศ์, เจ้าพระยา. หนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู.พิมพ์ครั้งที่ ๓.กรุงเทพฯ; ประยูรวงศ์
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์.ประวัติศาสตร์อารยธรรม ภาคใต้ แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย-กรุงเทพฯ : สุรีธิยาสาส์น
จดหมายเหตุ ประพาสหัวเมืองภาคใต้ของพระบรมโอรสาธิราช โดยนายแก้ว